9/2/56

หลบร้อนไปพระนครคีรี



ร้อนแบบนี้ไปเที่ยวกันที่พระนครคีรี

พระนครคีรีหรือเขาวัง เมืองเพชรบุรี

เวลาที่อากาศร้อน ๆ อย่างนี้ หลายคนคิดถึงหาดทรายขาวทางภาคใต้ แต่ถ้าภาระการงานรัดตัวจนมีแค่วันหยุดสั้น ๆ เราขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่มีอากาศเย็นสบาย ร่มรื่น แถมยังมีความงามทางสถาปัตยกรรมและเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้ศึกษากัน ที่ “พระนครคีรี” ค่ะ
หากเอ่ยถึง “พระนครคีรี” หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับชื่อนี้ แต่ถ้าพูดชื่อ “เขาวัง” เมือเพชรบุรีละก็คงจะร้องอ๋อกันทีเดี๋ยว เพราะคนที่มีโอกาสขับรถลงใต้ คงจะคุ้นเคยกับภาพพระราชวังสีขาวบนยอดภูเขาสูงอันเป็นภาพจำของเมืองเพชรบุรีนั่นเองค่ะ
พระนครคีรีหรือเขาวัง เป็นพระราชวังสำหรับแปรพระราชฐานที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชการที่สี่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เนื่องจากทรงพอพระทัยในในความงามของภูเขาแห่งนี้ และพระราชทานชื่อให้พระราชวังแห่งนี้ว่าพระนครคีรี ความโดดเด่นของพระราชวังแห่งนี้อยู่ที่กลุ่มอาคารที่สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบนีโอคลาสสิก ผสมสถาปัตยกรรมจีน ซึ่งงดงามแปลกตาและหาชมได้ยาก รอบ ๆ อาคารมีการปลูกต้นไม้นานาชนิดทั้งไม้ดอกและไม่ยืนต้น โดยเฉพาะดอกลีลาวดีหรือดอกลั่นทม ซึ่งปลูกไว้จำนวนมากจนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเขาวัง ดังนั้นแม้แต่คนที่คิดว่าสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ไม่น่าสนใจ ก็ยังต้องทึ่งกับความงดงามของหมู่ไม้แห่งพระนครคีรี


 นอกจากความงามจากสถาปัตยกรรมแล้ว พระนครคีรียังเป็นแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการใช้ส่วนหนึ่งของพระราชวังบนยอดเขาด้านทิศตะวันตกเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครคีรี เพื่อจัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไปจนถึงเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ที่เคยเสด็จมาแปรพระราชฐานที่พระนครคีรีแห่งนี้
นอกจากนี้ที่พระนครคีรียังมีวัดประจำพระราชวัง อย่างวัดพระแก้ว ที่ก่อสร้างด้วยหินอ่อน มีหลังคาย่อมุมที่สวยงามตามอย่างสถาปัตยกรรมไทย ส่วนคนที่ชื่นชอบงานจิตรกรรมต้องไปที่วัดมหาสมณาราม วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่งจิตรกรเอกของไทย นอกจากนี้บนยอกพระนครคีรี ยังมีเจดีย์พระธาตุจอมเพชร ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริธาตุไว้ภายในอีกด้วย


ด้วยภูมิทัศน์ที่ร่มรื่น และมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้เคารพสักการะ พระนครคีรีหรือเขาวังจึงเป็นสถานที่ที่ใครหลายคนหลบร้อนมาพักกายพักใจใต้รมไม้และพุทธศาสนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน